ผมร่วงศีรษะล้านทำไงดี?
รอบรู้เรื่องผมร่วงศีรษะล้าน

ผมร่วงศีรษะล้านเป็นปัญหาหนักอกที่ไม่มีใครอยากพบเจอ แต่คนจำนวนไม่น้อยที่หนีไม่พ้น โดยเฉพาะคนที่ผมร่วงศีรษะล้านจากพันธุกรรม
อุบัติการณ์การเกิดผมร่วงศีรษะล้าน สหรัฐอเมริกามีการประมาณการณ์ว่าร้อยละ 50-70 ของผู้ชายทั่วโลกมีปัญหาเรื่องผมร่วงศีรษะล้าน แต่ตัวเลขของอุบัติการณ์ในผู้ชายไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 ส่วนผู้หญิงน่าจะน้อยกว่าผู้ชาย คือ อยู่ที่ร้อยละ 25 หรือประมาณ 1 ใน 4 เพราะฉะนั้นจำนวนของผู้ชายที่มีปัญหาผมร่วงศีรษะล้านในเมืองไทยน่าจะอยู่ที่ กว่า 10 ล้านคน ส่วนผู้หญิงน่าจะอยู่ที่ 4-5 ล้านคน ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะมีปัญหาผมร่วงศีรษะล้านน้อยกว่าผู้ชาย แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงจะสูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางด้านจิตใจ ฉะนั้นพอผมบางลงนิดหน่อยผู้หญิงก็รู้สึกว่าต้องรีบหาทางรักษา ในขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้ผมบางมากๆ จึงจะเริ่มรู้สึกตัวแล้วว่าต้องหาทางรักษา ความต่างของปัญหาผมร่วงในชาย-หญิง นอกจากอุบัติการณ์จะแตกต่างกันแล้ว ลักษณะของผมร่วงศีรษะล้านของผู้หญิงและผู้ชายยังแตกต่างกันด้วย โดยผมของผู้ชายมักจะเริ่มร่วงจากทางด้านหน้า และกลางกระหม่อม จนทำให้ศีรษะล้านเป็นรูปเกือกม้า แต่ผมร่วงของผู้หญิงส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) จะเริ่มจากตรงกลางกระหม่อม โดยที่ข้างหน้าผมยังดีดู มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่จะคล้ายกับผู้ชาย ผมร่วงมากเท่าไรถึงจะผิดปกติ คนทั่วไปสามารถตรวจในเบื้องต้นได้ด้วยตัวเองว่าเรามีปัญหาผมร่วงศีรษะล้าน หรือไม่ ด้วยการดูปริมาณผมที่ร่วงในแต่ละวัน โดยถ้ามีผมร่วงเกินวันละ 100 เส้นจึงจะถือว่าผิดปกติ ซึ่งอาจจะเกิดจากหลากหลายสาเหตุ จึงควรไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาหรือหาทางรักษา การตรวจใน เบื้องต้นอีกอย่างก็คือ เมื่อไรที่เรารู้สึกว่ามีปัญหาเรื่องผมบางเริ่มสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ก็ควรรีบไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์ก็จะมีวิธีการตรวจหลายๆ อย่าง เช่น การใช้กล้องขยายส่องดูรากผม หรือดึงผมออกมาตรวจ รวมถึงการซักประวัติว่ามีคนในครอบครัวศีรษะล้านหรือไม่

ผมร่วงศีรษะล้านจากพันธุกรรม
ร้อยละ 96 ของสาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วงศีรษะล้านในผู้ชายเกิดจากพันธุกรรม ซึ่งเป็นไปได้ทั้งจากพันธุกรรมฝั่งมารดาหรือบิดา ต่างจากในอดีตที่เชื่อว่ามาจากพันธุกรรมของฝั่งมารดาเพียงอย่างเดียว โดยลักษณะผมร่วงศีรษะล้านจากพันธุกรรมของผู้ชายจะมีรูปแบบที่เห็นได้ชัดเจน คือ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากการถอยร่นของแนวผมทางด้านหน้าเข้าไปเป็นง่าม และต่อมาจะเกิดศีรษะล้านที่กลางกระหม่อม ส่วนที่เหลือร้อยละ 3-4 จะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บป่วย เช่น เป็นไทฟอยด์ หรือเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมๆ ส่วนการวินิจฉัยสาเหตุของผมร่วงศีรษะล้านของผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีความยุ่ง ยากกว่าผู้ชาย เพราะแม้ว่าพันธุกรรมจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงศีรษะล้านเช่นเดียวกัน แต่ลักษณะศีรษะล้านจากพันธุกรรมของผู้หญิงส่วนใหญ่จะไม่มีรูปแบบที่เห็นได้ ชัดแบบของผู้ชาย โดยบางครั้งผู้หญิงบางคนอาจจะผมบางทั้งศีรษะเลยจึงหาสาเหตุได้ยากกว่า การรักษาผมร่วงศีรษะล้านด้วยยา ปัจจุบันมียาเพียง 2 ชนิดที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งของสหรัฐอเมริกาและไทยว่าสามารถรักษาอาการศีรษะล้านได้ผล คือ ฟิแนสเทอไรด์และไมน็อกซิดิล โดยยาฟิแนสเทอไรด์เดิม จะเป็นยาที่ใช้ในการรักษาต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ปัจจุบัน อย. ของสหรัฐอเมริกาอนุมัติให้ใช้ในการปลูกผมได้ โดยยานี้ใช้ได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่ไม่แนะนำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์หรือพร้อมจะตั้งครรภ์กินหรือจับยาตัวนี้ เพราะอาจจะมีผลกระทบต่อทารกเพศชายในครรภ์ สำหรับการรักษาศีรษะล้าน แพทย์จะแนะนำให้กินยาฟิแนสเทอไรด์วันละ 1 มิลลิกรัม โดยต้องกินอย่างต่อเนื่องจึงจะเริ่มเห็นผลในเวลา 3 เดือน และเมื่อผมขึ้นแล้วก็ยังคงต้องกินยาต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ดี ยาฟิแนสเทอไรด์มีผลข้างเคียงที่ต้องระวัง คือ อาจจะทำให้ความรู้สึกทางเพศลดลง (ร้อยละ 1.8) แต่หากหยุดรับประทานยาแล้ว ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้ชายที่มีอายุเกิน 40 ปีและอยากจะกินยาฟิแนสเทอไรด์เพื่อรักษาอาการศีรษะล้านว่า ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากก่อน และระหว่างรับประทานก็ควรไปตรวจเลือดเป็นระยะๆ เพื่อความปลอดภัย สำหรับยาไมน็อกซิดิล ซึ่งเป็นยารักษาโรคความดันโลหิตสูงนั้น ในการใช้เพื่อรักษาอาการผมร่วงศีรษะล้านจะไม่แนะนำให้ใช้ยากิน แต่ให้ใช้ในรูปของโลชั่น หรือยาทา ซึ่งจะมีความเข้มข้นแบบ 2 % และ 5 % เพราะจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่า และเกิดเฉพาะที่ เช่น ทำให้มีลูกผมเยอะขึ้น คิ้วดกขึ้น หรืออาจจะทำให้ผู้หญิงบางคนมีหนวดได้ แต่ว่าพบไม่มากนัก โดยเฉพาะหากใช้ตามที่แพทย์แนะนำ

การรักษาด้วยการปลูกผม
ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้วิธีการปลูกผมให้กับคนที่ผมร่วงศีรษะล้านจากพันธุกรรมที่ มีอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป และรักษาด้วยยาไม่ได้ผล โดยการผ่าตัดเพื่อนำเซลล์เส้นผมที่อยู่ด้านหลังของศีรษะหรือบริเวณท้ายทอยมา ปลูกที่บริเวณศีรษะด้านหน้า โดยพยายามตัดเซลล์เส้นผมเป็นกอเล็กๆ แล้วนำเอามาแบ่งปลูกทีละเส้น ฉะนั้นคนศีรษะล้านที่จะปลูกผมได้ต้องยังมีเส้นผมด้านหลังหรือด้านข้างเหลือ อยู่ เพื่อจะได้ย้ายมาเซลล์เส้นผมที่มีอยู่มาปลูกในบริเวณที่ต้องการ เพราะไม่สามารถนำเอาเส้นผมของคนอื่นมาปลูกได้ หรือถ้าทำได้ก็ต้องกินยากดภูมิต้านทานตลอดชีวิต ซึ่งไม่คุ้ม ขณะที่การย้ายขนจากที่อื่นมาปลูกก็ยังไม่ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ ขอบคุณบทความ: HealthyToday