เหตุผลที่ลดเท่าไหร่น้ำหนักก็ไม่ลงสักที
ลดอาหาร ออกกำลังกาย แต่ขึ้นตาชั่งทีไรน้ำหนักก็เท่าเดิม อยากรู้ไหมว่าทำไมกันนะ...
1. คุณกินชดเชยหลังออกกำลังกายใช่ไหม?
สาว ๆ หลายคนเคยชินกับการให้รางวัลตัวเองด้วยของหวานสักชิ้น หรือน้ำหวานสักแก้วหลังจากออกกำลังกายอย่างหนัก (ก็เพิ่งเบิร์นไปตั้งหลายแคลอรี่นี่นา) แต่การกินแบบนี้จะทำให้ที่คุณออกกำลังมาน่ะเหนื่อยเปล่า! แถมบางทีพลังงานที่คุณกินอาจจะมากกว่าที่เพิ่งใช้ไปด้วยซ้ำ
2. คุณอาจจะนอนไม่พอ
นอน ดึกๆ หรือนอนน้อยๆ ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายมีเวลาเผาผลาญพลังงานมากขึ้น แต่กลับทำให้ประโยชน์ที่ควรได้จากการออกกำลังกายลดลง และทำให้น้ำหนักของคุณเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าคุณนอนไม่พอเมตาบอลิซึม จะทำงานช้าลงตรงข้ามกับความอยากอาหารที่เพิ่มขึ้น
3. คุณเครียดเกินไปไหม?
ยิ่งคุณเครียดมากเท่าไหร่ น้ำหนักคุณก็ยิ่งเพิ่มขึ้นง่ายเท่านั้น เวลาเครียดๆ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาทำให้ความอยากอาหารและการกักเก็บ พลังงานในรูปไขมันเพิ่มขึ้น (พุงจะยื่นเลยล่ะ)
4. คุณกินน้อยเกินไปล่ะมั้ง
กินน้อยได้พลังงานน้อยก็จริง แต่ถ้ากินน้อยเกินไปร่างกายจะปกป้องตัวเองตามสัญชาตญาณด้วยการลดอัตราเมตาบอลิซึมลง เพื่อกักเก็บพลังงานเอาไว้ (ป้องกันไม่ให้อดตาย!)
5. คุณลดไม่ต่อเนื่องหรือเปล่า?
การลดอาหารและออกกำลังไม่ต่อเนื่องนั้น แย่ยิ่งกว่าการกินมาก ๆ ออกกำลังกายน้อย ๆ เสียอีก เพราะจะทำให้ร่างกายของคุณปรับตัวไม่ทัน ดีไม่ดีตอนที่คุณกำลังกินอย่างเพลิดเพลิน ร่างกายอาจกำลังเร่งเก็บพลังงานไว้ใช้ตอนที่คุณลดน้ำหนักก็ได้
6. คุณไม่ได้อยากลดน้ำหนักจริงๆ
ถามตัวเองให้แน่ๆ ว่าคุณอยากจะลดน้ำหนักแบบจริงจังหรือเปล่า เพราะถ้าคุณไม่ได้ตั้งใจจริง ไม่นานคุณก็จะเบื่อและท้อ พอมีอะไรมายั่วหน่อยก็อยากกิน อาจจะเดี๋ยวทำเดี๋ยวเลิกจนไขมันพุ่งขึ้นมากกว่าเดิมเสียอีก
7. คุณออกกำลังไม่หลากหลายล่ะสิ
ออกกำลังกายอยู่อย่างเดียวจนเป็นกิจวัตรประจำวันนอกจากจะน่าเบื่อแล้ว ยังทำให้การเบิร์นไม่ได้ผลเท่าเดิมด้วยนะ เพราะคุณเคยชินกับมันจนเกินไปยังไงล่ะ ปรับเปลี่ยนซะบ้างนะ
8. น้ำหนักที่เห็นอาจไม่สัมพันธ์กับไขมันก็ได้
น้ำหนักที่คุณชั่งได้มีทั้งน้ำหนักของน้ำ มวลกล้ามเนื้อแล้วก็ไขมัน การออกกำลังกายมากๆ อาจทำให้กล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นมาแทนที่ไขมันที่หายไป คุณถึงยังน้ำหนักเท่าเดิมยังไงล่ะ
9. คุณอาจใจร้อนเกินไป
ร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน บางคนออกกำลังแป๊บเดียว น้ำหนักก็ลดลงไปเห็นๆ แต่บางคนอาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ หรืออาจจะเป็นเดือน อย่าใจร้อน! ให้เวลากับตัวเองหน่อย ถ้าคุณพยายามเดี๋ยวก็เห็นผลเอง...ไม่ต้องรีบ
10. บางทีคุณอาจจะเป็นโรค (ที่ไม่เคยรู้)
โรคบางโรค เช่น ภาวะมีถุงน้ำที่รังไข่ (PCOS) ต่อมธัยรอยด์ผิดปกติ หรือฮอร์โมนที่ไม่สมดุล อาจจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และลดลงได้ยาก หากรู้สึกผิดปกติมาก ๆ ออกกำลังกาย และควบคุมอาหารมาเป็นเดือน ๆ น้ำหนักก็ไม่หายไปเลย ลองปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจร่างกายดูนะคะ

ที่มา...Lisa